การเคลื่อนไหวของวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

แม้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเวลานี้จะอยู่ในสถานะ “ชะลอตัว” เพราะถูกพายุลูกใหญ่จากทั้งนอกประเทศและในประเทศถาโถมพัดใส่เข้ามาแบบไม่ยั้ง จนทำให้ “กำลังซื้อ” ในประเทศหดหายแบบเห็นได้ชัด แต่ในแง่ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์แล้วกลับมองว่า คนไทยอีกจำนวนมากยังต้องการที่พักอาศัยเป็นของตัวเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซนที่สามารถเดินทางได้สะดวกใกล้ที่ทำงาน

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั้งรายใหญ่ รายกลาง ออกมาโหมทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ พร้อมจัดแคมเปญกระตุ้นยอดขายแบบจัดหนัก แม้บางรายที่ไม่ค่อยเปิดตัวยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องออกมาขยับตัวส่งเสียงกันทั่วหน้าเช่นกัน!! โดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้ายของปี ที่ต่างเร่งผลักดันยอดขายให้เข้าเป้าหมาย แม้ว่าต้นทุนจะเพิ่มสูงขึ้นทุกด้าน จนทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมึนงง สงสัย กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกำลังขับรถมาตามทางเรียบ ๆ แต่อยู่ ๆ กลับสะดุดตกหลุมตกบ่อ กว่าจะหายตกใจก็ล่วงเข้าไตรมาสสุดท้ายของปีไปแล้ว ดังนั้นจึงต้องรีบบึ่งเพื่อให้ยอดขายเข้าเป้าให้จงได้

ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ไทยตกอยู่ในอาการ “ร้อนแรง” มาโดยตลอด ทั้งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และต่างจังหวัด ซึ่งไม่เพียงแต่จังหวัดที่เป็นหัวเมืองเศรษฐกิจเช่น พัทยา หัวหิน เชียงใหม่ ภูเก็ต และสงขลา แต่ยังร้อนแรงไปถึงจังหวัดหัว เมืองรอง รวมถึงเมืองท่องเที่ยว ที่ผู้ประกอบการเห็นขุมทรัพย์บ่อ ใหญ่จนต้องรุกไปขยายฐานตลาดคอนโดมิเนียมกันอย่างเข้มข้น เห็นได้จากจำนวนโครงการที่ผู้ประกอบการขยายฐานเข้าไปลงทุนมีไม่น้อยกว่า 20 โครงการ ที่สำคัญ… ในปีนี้ยังได้เห็นการเปิดตัวโครงการใหม่ในจังหวัดที่เป็นจังหวัดยุทธศาสตร์ตามแผนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของภาครัฐ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ไม่ว่าจะเป็น ขอนแก่น, ระยอง, พิษณุโลก หรือแม้แต่จังหวัดยุทธศาสตร์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เช่น อุดรธานี, เชียงราย เป็นต้น แน่นอนว่า เมื่อภาครัฐกำหนดยุทธศาสตร์ชัดเจน ก็ทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นต่างตื่นตัว เร่งเข้ามาลงทุนเพื่อรักษาฐานตัวเองไว้ด้วยเช่นกัน จนทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่าจะเข้าสู่ยุคภาวะฟองสบู่อีกครั้งหรือไม่…

แต่เมื่อเข้าสู่ปลายไตรมาส 2 ภาพความคึกคักเหล่านั้นกลับชะลอลง พอมาถึงไตรมาส 3 กลับเกิดภาวะชะงักงัน จากปัจจัยลบ ทั้งเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวลง ปัญหาราคาสินค้าแพงขึ้น หรือแม้แต่หนี้สินภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น จนกระทบต่อกำลังซื้อ และความสามารถในการผ่อนชำระ ส่งผลให้สถาบันการเงินต้องเข้มงวดการปล่อยกู้ เป็นเหตุให้คนที่ต้องการซื้อบ้านพบกับปัญหาการกู้ยากขึ้น จนถึงขอกู้ไม่ผ่าน ที่โดยภาพรวมแล้ว สถาบันการเงินมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้น 15-35% จากปกติที่มีเพียงกว่า 10% เท่านั้น

ด้านผู้ประกอบการเอง…ต้องเผชิญกับการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง นอกจากปัญหาเดียวกันกับผู้ซื้อคือ สถาบันการเงินระมัดระวังการให้สินเชื่อแล้ว ยังมีเรื่องของภาระต้นทุนสูงขึ้น จากราคาที่ดิน ค่าจ้างแรงงาน และวัสดุก่อสร้าง ที่ทำให้ต้องปรับราคาขึ้นตามโดยเฉลี่ย 7.5% ที่สำคัญ ยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานคุณภาพ ส่งผลกระทบต่อความล่าช้า ในการก่อสร้าง รวมถึงคุณภาพของโครงการด้วย แม้ว่าหลายโครงการได้หันไปพึ่งระบบการก่อสร้างแบบสำเร็จรูป หรือพรีแฟบ แต่เป็นเพียงการประคองธุรกิจเท่านั้น เพราะพรีแฟบแม้จะทำให้การก่อสร้างเป็นไปด้วยความรวดเร็ว แต่ยังมีต้นทุนที่สูงอยู่เช่นเดิม